มารยาทในการร่วมรับประทานอาหารบนโต๊ะแบบไทย
ในกรณีที่ได้รับเชิญไปยังงานเลี้ยงต่างๆ โดยเจ้าภาพที่เชิญมานั้นเป็นที่รู้จักกับเราเป็นอย่างดี หรือเพิ่งได้รู้จักกันก็ตาม แน่นอนว่าในงานจะต้องมีการจัดเลี้ยงรับประทานอาหาร เพื่อให้เกียรติกับแขกที่มาเยือนและเป็นขนบธรรมเนียมที่มีมาอย่างยาวนาน ดังนั้นแล้วสิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเองนั่นก็คือ "มารยาทในการร่วมรับประทานอาหารบนโต๊ะ"
ในการเสิร์ฟอาหารแบบไทยนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ เสิร์ฟอาหารทั้งหมดไว้บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว และแบบค่อยๆ ทยอยเสิร์ฟมาทีละอย่าง ซึ่งก็จะมีมารยาทในการปฏิบัติโดยแบ่งเป็นข้อ ๆ ดังนี้
- ถ้าไม่สามารถมาร่วมงานได้ จะต้องแจ้งให้เจ้าภาพทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน
- เตรียมเครื่องแต่งกายที่สุภาพและเหมาะสมกับงานให้พร้อมก่อนจะไปร่วมงาน
- ไปถึงสถานที่จัดงานก่อนที่จะเริ่มงานประมาณ 10 นาที และไม่ควรไปเร็วหรือช้าไปกว่านั้น
- เมื่อไปถึงหน้างานสิ่งแรกที่ควรทำคือ พบปะกับเจ้าภาพก่อน และเข้าไปแสดงความยินดีอย่างจริงใจ ด้วยใบหน้าที่แจ่มใส
- ทักทายและพูดคุยกับแขกท่านอื่นที่มาร่วมงานด้วย เพื่อสร้างสัมพันธไมตรี และได้เพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น
- เวลาที่เดินเข้าไปประจำที่โต๊ะ ท่านสุภาพบุรุษควรที่จะขยับเก้าอี้ให้กับสุภาพสตรีที่นั่งข้างๆ ได้นั่งก่อน
- ในการนั่งที่โต๊ะ ถ้ามีแขกผู้ใหญ่ร่วมโต๊ะด้วย จะต้องให้แขกผู้ใหญ่นั่งก่อนแล้วจึงค่อย ๆ นั่งตาม
- งดสูบบุหรี่บนโต๊ะอาหาร
- นั่งตัวตรง
- นอกจากรายการอาหารแล้ว ไม่ควรอ่านหนังสือบนโต๊ะอาหาร
- ถ้ามีผ้าเช็ดมือจัดวางไว้บนโต๊ะตรงหน้าเรา ให้คลี่ออกมาวางไว้ที่ตัก
- อย่าเล่นช้อน ส้อม และผ้าเช็ดมือ
- ไม่กางข้อศอกในช่วงเวลาของการรับประทานอาหาร
- ถ้ามีสิ่งใดตก ควรที่จะแจ้งให้พนักงานเสิร์ฟทราบ
- อุปกรณ์ที่วางอยู่บนโต๊ะ จะต้องสังเกตให้ดีก่อนที่จะหยิบมาใช้ว่าเป็นของเรา
- ในขณะรับประทานอาหาร ไม่ควร ปรับแต่งทรงผม หรือแต่งหน้า โดยเด็ดขาด
- ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโต๊ะตามสมควร
- ไม่เอื้อมหยิบหรือตักอาหารผ่านหน้าผู้อื่น ถ้าเพื่อนร่วมโต๊ะส่งให้ควรรับเพื่อเป็นมารยาท
- ถ้าทำอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่จำเป็นต้องแก้ตัว
- ควรถือแก้วน้ำดื่มด้วยมือขวา
- ในระหว่างการรับประทานอาหารไม่ควรไม่ควรจิ้มฟัน
- หลังจากที่ได้รับประทานอาหารเสร็จควรรวบช้อนและส้อมไว้คู่กัน วางไว้ในจาน
- ลุกจากโต๊ะอาหารหลังจากที่คนอื่น ๆ ทานอิ่มแล้ว
เพียงเท่านี้เราก็สามารถที่จะร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับผู้อื่นได้อย่างไม่เคอะเขินและไม่กังวลใจ